ปรากฏการณ์สภาพอากาศ 2 ขั้ว เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘เอลนีโญ’กับ‘ลานีญา’ กล่าวคือ ในขณะที่ซีกโลกหนึ่งเกิดภัยแล้ง แต่อีกซีกโลกหนึ่งกำลังเกิดน้ำท่วม โดยประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวนนี้และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ประกาศว่าปรากฏการณ์ลานีญา มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปอีกนานหลายเดือนในปีนี้และปีหน้า
ปรากฏการณ์ลานีญา เกิดจากกระแสลมพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมายังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกตามเดิมแต่กระแสลมมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและฝนตกหนักมากกว่าปกติ ในทางตรงข้ามก็เกิดภาวะความแห้งแล้งตามแนวชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้
ปรากฎการณ์ลานีญาทำให้ฝนจะมาเร็วและอาจเกิดพายุฤดูร้อนได้บ่อยขึ้น ทำให้คาดว่าจะมีปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ย 60 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม จะมีปริมาณฝนจะเริ่มกลับมาตกหนักถึงหนักมากขึ้นในบางแห่งส่งผลทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีพื้นที่เป็นภูเขาที่มี ความลาดชันสูง ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้พื้นดินบริเวณนั้นขาดประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำฝน เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มหรือโคลนถล่มได้ อีกทั้งพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณภาคกลาง เมื่อเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ไม่สามารถรองรับมวลน้ำในปริมาณมากได้ ทำให้จำเป็นต้องปล่อยน้ำบางส่วนออกมา ก็เป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนพายุก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือทะเลจีนใต้ จะพัดผ่านเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในลักษณะพายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน พายุดีเปรสชั่น หรือหย่อมความกดอากาศต่ำ จะทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างได้เช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ ที่เสี่ยงภัยก็ต้องเฝ้าระวังด้วย
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ลานีญาและเอลนีโญ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากความผกผันของสภาวะอากาศบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้การไหลเวียนของน้ำและกระแสลมเกิดความแปรปรวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกอย่างรุนแรง สำหรับประเทศไทย ผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญาอาจทำให้เกิดการสูญเสียในด้านต่างๆ ตามมามากมาย ดังนั้น ในทุกภาคส่วนต้องมีการเตรียมแผนรับมือน้ำหลากในช่วงฤดูฝน คอยติดตามสภาพอากาศ ประเมินแนวโน้ม สถานการณ์น้ำ ปริมาณฝน และพายุอย่างใกล้ชิด เพราะการวางแผนการรับมือมีความสำคัญมากที่สุดที่จะช่วยลดผลกระทบ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และมากไปกว่าการรับมือคือการหันมาร่วมมือกันและลงมือทำเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน
ที่มา: เอลนีโญ ลานีญา ปรากฏการณ์ที่มี อิทธิพลต่อสภาพภูมิอากาศของโลก